สำนักงาน คปภ. เสริมมาตรการเชิงป้องกัน..! ตีกรอบบริษัทประกันภัยห้ามขยายธุรกิจ ในระหว่างดำเนินการตามโครงการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุน
นายโสรัจจ์ แรกสกุลชัย ผู้ช่วยเลขาธิการ สายตรวจสอบ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.)
ในฐานะนายทะเบียนได้ออกประกาศนายทะเบียน เรื่อง กรณีที่ถือว่าเป็นการรับประกันภัยรายใหม่และการก่อภาระผูกพันเพิ่มเติมของบริษัทประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2567
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดกรณีที่ถือว่าเป็นการรับประกันภัยรายใหม่และกรณีที่ถือว่าเป็นการก่อภาระผูกพันเพิ่มเติม อันเป็นการขยายธุรกิจในระหว่างที่บริษัทดำเนินการตามโครงการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุนที่ได้รับความเห็นชอบตามมาตรา 27/6 แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี และเริ่มมีผลให้ใช้บังคับตั้งแต่วันดังกล่าว
โดยประกาศนายทะเบียนทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าว จะเป็นกรอบการกำกับดูแลเชิงป้องกันเพื่อไม่ให้บริษัทประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย ที่อยู่ระหว่างการแก้ไขฐานะเงินกองทุน เพิ่มความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจในระหว่างที่ดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย อันจะนำไปสู่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชน ตลอดจนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อฐานะการเงินและความมั่นคงของบริษัทประกันภัย ซึ่งจะทำให้บริษัทประกันภัยได้ทราบว่า กรณีใดบ้างที่ถือว่าเป็นการขยายธุรกิจที่ต้องห้ามตามกฎหมายที่ไม่สามารถดำเนินการได้ในระหว่างที่บริษัทประกันภัยดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการตามโครงการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุน จนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ถือว่าเป็นการรับประกันภัยรายใหม่
นอกจากการห้ามเพิ่มการรับประกันภัยรายใหม่แล้ว ยังจะครอบคลุมถึงการต่ออายุกรมธรรม์รายเดิม และการต่ออายุสัญญาประกันภัยต่อในกรณีที่ผู้บริษัทผู้รับประกันภัยต่อ (Inward Reinsurance) ด้วย สำหรับกรณีที่ไม่รวมเป็นการรับประกันภัยรายใหม่ เช่น การต่ออายุสัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ยังมีผลบังคับ หรือการต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยที่มีเงื่อนไขการรับประกันการต่ออายุเมื่อครบรอบปีกรมธรรม์ (Guarantee Renewal) เป็นต้น
นอกจากนี้ ตามประกาศนายทะเบียนทั้ง 2 นอกจากการกำหนดขอบเขต กรณีที่ถือว่าเป็นการรับประกันภัยรายใหม่ข้างต้นแล้ว ยังครอบคลุมรวมถึงกรณีห้ามบริษัทประกันภัยจะเข้าไปทำสัญญาบางประเภทกับบุคคลใดภายหลังถูกห้ามขยายธุรกิจตามมาตรา 27/6 ที่จะส่งผลให้บริษัทประกันภัยมีภาระผูกพันต้องจ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดให้แก่บุคคลใดด้วย ทั้งนี้ เพื่อป้องกันเป็นการก่อภาระผูกพันเพิ่มเติมที่จะกระทบต่อเงินกองทุนและฐานะการเงินด้วย เว้นแต่ สัญญาที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุนฯ ตามโครงการฯ เช่น สัญญาว่าจ้างผู้สอบบัญชีหรือนักคณิตศาสตร์ เพื่อตรวจสอบและประเมินฐานะและการดำเนินการของบริษัท
โดยมีค่าจ้าง ค่าตอบแทน และผลประโยชน์ที่เหมาะสมตามสภาวะตลาดและเป็นปกติทางการค้า หรือสัญญาที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายประจำเพื่อดำเนินธุรกิจปกติ เป็นต้น อันเป็นการสร้างความยืดหยุ่นให้บริษัทประกันภัยที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตามโครงการแก้ไขฐานะเงินกองทุนสามารถดำเนินการตามประกาศให้กลับมามีฐานะการเงินที่มั่นคงหรือมีเงินกองทุนเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและส่งผลต่อการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและต่อระบบประกันภัย ทั้งนี้ การออกประกาศนายทะเบียนทั้ง 2 ฉบับ จะไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิต่าง ๆ ของผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่ตามกรมธรรม์แต่อย่างใด
“การออกประกาศทั้ง 2 ฉบับ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. เพื่อให้สามารถตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการบริการของภาคธุรกิจประกันภัย ซึ่งนอกจากไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจปกติแล้ว ยังมุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนในฐานะผู้บริโภค ประกาศนายทะเบียนดังกล่าว จึงมีหลักการที่สอดรับกับกฎหมาย อีกทั้ง ยังเป็นการป้องกันไม่ให้บริษัทประกันภัยที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาฐานะเงินกองทุน รับประกันภัยรายใหม่จากประชาชน หรือก่อภาระผูกพันเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของบริษัทและอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างได้ ตลอดจนเป็นการช่วยสร้างและฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อประชาชนในฐานะผู้เอาประกันภัยต่ออุตสาหกรรมประกันภัยและต่อระบบการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจด้วย” ผู้ช่วยเลขาธิการสายตรวจสอบ กล่าวในตอนท้าย