คปภ.ร่วมกับ ส.ประกันวินาศภัยไทย และกองทุนประกันวินาศภัย ร่วมหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนผู้ทำประกันภัย กรณีบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ถูกสั่งปิดกิจการ
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ร่วมกับ ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย และ นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย ร่วมแถลงข่าวการดำเนินการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน
ผู้เอาประกันภัย กรณีบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยมีผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.)สมาคมประกันวินาศภัยไทย กองทุนประกันวินาศภัย และสื่อมวลชนเข้าร่วม ณ อาคารสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ชั้น 2 สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ พร้อมทั้งถ่ายทอดการแถลงข่าวผ่านโซเชียลมิเดียของสำนักงาน คปภ.
เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งที่ 1364/2567 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 และคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) มีคำสั่งที่ 19/2567 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 แต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ชำระบัญชี บริษัท สินมั่นคงประกันภัยจำกัด (มหาชน)
ดังนั้น สำนักงาน คปภ. สมาคมประกันวินาศภัยไทย และกองทุนประกันวินาศภัย จึงร่วมกันกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับไม่ให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยได้รับผลกระทบจากการที่บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยข้อมูล ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 บริษัท สินมั่นคงฯ มีสินทรัพย์รวม 4,785.08 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 38,056.34 ล้านบาท
โดยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน 33,271.26 ล้านบาท บริษัทมีสินทรัพย์สภาพคล่องหลังหักภาระผูกพันคงเหลือจำนวน 2,228.28 ล้านบาท มีสินไหมทดแทนค้างจ่าย 484,204 เคลม วงเงิน 32,184.83 ล้านบาท แบ่งเป็นสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด 19 จำนวน 356,661 เคลม วงเงิน 30,124.47 ล้านบาท และสินไหมทดแทนค้างจ่ายอื่น (Non-Covid 19) จำนวน 127,543 เคลม วงเงิน 2,060.36 ล้านบาท โดยมีกรมธรรม์ที่มีผลบังคับ 789,477 กรมธรรม์ แบ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยประเภทรถ (Motor) จำนวน 366,458 กรมธรรม์ และกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น (Non-Motor) จำนวน 423,019 กรมธรรม์
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดมาตรการเพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้เอาประกันภัยไว้โดยได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่สายด่วน คปภ. 1186 อีกทั้งมีการเพิ่มช่องทางพิเศษให้ประชาชนกดหมายเลข 8 เพื่อเข้าปรึกษากรณีบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จากัด (มหาชน) โดยเฉพาะ รวมทั้งจัดทำระบบเสียงอัตโนมัติในส่วนของคำถามที่ประชาชนสอบถามเข้ามาบ่อย ๆ เช่น เอกสารที่ต้องใช้ในการขอรับค่าสินไหมทดแทน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และได้เพิ่มช่องทางการสื่อสารกับประชาชนผ่าน Application LINE คปภ. รอบรู้ โดยจะมีการตอบคำถามในรูปแบบของ Infographic หรือ ประชาชนประสงค์จะสอบถามข้อมูลโดยตรงจากเจ้าหน้าที่ก็สามารถทำได้เช่นกัน
นอกจากนี้ มีการจัดทำข้อมูลเพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับประชาชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตลอดจนมีการจัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกในการคีย์ข้อมูลขอรับชำระหนี้ผ่านสำนักงาน คปภ. ภาค สำนักงาน คปภ. จังหวัด ทั่วประเทศ สำหรับการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นปัญหาฐานะการเงินและการจัดการภายในของบริษัทจึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินหรือสภาพคล่องของบริษัทประกันวินาศภัยอื่น หรือธุรกิจประกันภัยในภาพรวมแต่อย่างใด
ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือของสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยผู้เอาประกันภัยสามารถติดต่อขอซื้อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่กับบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการ โดยวันเริ่มต้นความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ให้ถือว่าเป็นวันสิ้นสุดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิม
โดยบริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะคำนวณเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ที่มีระยะเวลาความคุ้มครอง 1 ปี และจะคำนวณเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิมในส่วนที่มีสิทธิได้รับคืนตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ เช่น ต้องการชื้อประกันภัยรถยนต์กับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการเบี้ยประกันภัยฉบับใหม่ 10,000 บาท หากคำนวณเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิมตามระยะเวลาที่มีเบี้ยประกันภัยคงเหลือ 4,000 บาท ดังนั้น ผู้เอาประกันภัยจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยให้กับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการเพื่อซื้อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ 6,000 บาท
ในส่วนแนวปฏิบัติในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีที่ 1 รถของผู้เอาประกันภัยกับบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ เป็นฝ่ายผิด ให้บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถฝ่ายถูก ดำเนินการจัดซ่อมรถตนเองและไม่ฟ้องไล่เบี้ยผู้เอาประกันภัย แต่จะไปยื่นขอรับชำระหนี้จากกองทุนฯ แทน หรือกรณีที่ 2 รถของผู้เอาประกันภัยกับบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ เป็นฝ่ายถูก ให้บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถฝ่ายผิด ดำเนินการจัดซ่อมหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ ที่เป็นฝ่ายถูก
สำหรับบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือมีจำนวน 9 บริษัทประกอบด้วย
- บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)
- บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน)
- บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
- บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)
- บริษัท เออร์โกประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ด้านนายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย เปิดเผยว่า ภายหลังจากมีการแต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้ชำระบัญชี บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามคำสั่งที่ 19/2567 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ทางกองทุนฯ ได้ดำเนินการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการและจดทะเบียนเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทสินมั่นคงฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยภายใน 30 วัน นับแต่แต่งตั้งเป็นผู้ชำระบัญชี กองทุนฯ จะได้มีการประกาศลงในหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ ติดต่อกัน 3 วัน และส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงบรรดาเจ้าหนี้เพื่อแจ้งบอกเลิกกรมธรรม์และแจ้งให้เจ้าหนี้ยื่นคำทวงหนี้ โดยจะบอกเลิกกรมธรรม์และสิ้นสุดความคุ้มครอง ภายในวันที่ 8 กันยายน 2567 และจะเปิดให้ยื่นคำทวงหนี้ผ่านระบบ Online ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน-วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 รวมระยะเวลายื่นคำทวงหนี้ 60 วัน
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่กองทุนประกันวินาศภัย หรือสำนักงาน คปภ. www.oic.or.th หรือสายด่วน คปภ. 1186 หรือผ่านช่องทาง LINE ‘คปภ.รอบรู้ @oicconect’