สำนักงาน คปภ. เสริมสร้างองค์ความรู้บุคลากรด้านกฎหมาย “ปรับเป็นพินัย-ประกันภัยทางทะเล”
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดโครงการจัดอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 กฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวและร่างพระราชบัญญัติประกันภัยทางทะเล พ.ศ. .... จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-4 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ. ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 กฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และร่างพระราชบัญญัติประกันภัยทางทะเล พ.ศ. .... ซึ่งกำหนดสิทธิหน้าที่ และความรับผิดของคู่สัญญาตามกฎหมาย โดยมีรากฐานแนวคิดมาจากกฎหมายประกันภัยทางทะเลของอังกฤษอันเป็นหลักการสากลที่นานาประเทศใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนากฎหมายประกันภัย และกฎหมายประกันภัยทางทะเล และสำนักงาน คปภ. ได้นำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนากฎหมายการประกันภัยทางทะเลของประเทศไทย เช่นเดียวกัน โดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และปัจจุบันอยู่ ระหว่างการเสนอร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติต่อไป
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. มีเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพของของบุคลากร รูปแบบและกระบวนการทำงานให้มีความพร้อม คล่องตัว และปรับตัวได้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ภายใต้ความมุ่งหมายดังกล่าวจึงได้ส่งเสริมให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในด้านต่าง ๆ เข้าร่วมอบรมหลักสูตรอบรมความรู้ที่สายงานกำหนดหรือหน่วยงานภายนอกได้จัดขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะ และศักยภาพของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้สามารถปฏิบัติภารกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับการอบรมครั้งนี้แบ่งเป็น 2 เรื่องหลักๆ คือ เรื่องแรก เป็นการอบรมเกี่ยวกับหลักการของกฎหมายว่าด้วย การปรับเป็นพินัย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อแก้ปัญหาภาวะกฎหมายอาญามีมากเกินจำเป็นหรือกฎหมายเฟ้อ (Over Criminalization) อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรงเท่านั้น โดยกฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ความผิดทางอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามพระราชบัญญัติต่างๆ ซึ่งรวมถึงกฎหมายที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. อาทิ พ.ร.บ. คปภ. พ.ร.บ. ประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย และ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กลายเป็นโทษที่ต้องดำเนินการปรับเป็นพินัย ซึ่งไม่ใช่โทษทางอาญาที่มีประวัติอาชญากรรมติดตัวอีกต่อไป
โดยปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน การชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหา การชำระค่าปรับเป็นพินัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญในการพิจารณาและกำหนดมาตรการลงโทษ สำหรับความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว
ทั้งนี้ การอบรมกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัยในครั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากวิทยากรของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดทำกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัยโดยตรง มาบรรยายให้ความรู้เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถใช้กฎหมายดังกล่าวได้อย่างมั่นใจ และเกิดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเรื่องที่สอง เป็นการอบรมเกี่ยวกับหลักการสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันภัยทางทะเล สำนักงาน คปภ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการกำหนดมาตรฐานของธุรกิจประกันภัยทางทะเลให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยทางทะเลของไทยให้เติบโตขึ้น และสามารถแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศได้
“การจัดอบรมครั้งนี้ จึงนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายทั้ง 2 เรื่องข้างต้น เพื่อเพิ่มศักยภาพให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. ที่ต้องปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบแนวทางในการบังคับใช้ และการดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไปในแนวทางเดียวกัน มีมาตรฐาน และเป็นธรรม อันจะส่งผลให้การกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้มีประสิทธิภาพและอยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดีเป็นสำคัญ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย