โตชิบาผนึกกำลัง ริงโกะ บัส และไดรฟ์ อิเล็กโทร ผลักดันโครงการสาธิตรถบัสไฟฟ้าชนิดชาร์จเร็วพิเศษภายใน 10 นาที
การดำเนินงานรถบัสไฟฟ้าชนิดชาร์จด้วยระบบแหนบรับไฟบนท้องถนนสาธารณะครั้งแรกของญี่ปุ่น มอบโซลูชันทรงพลังที่นำไปปรับใช้กับเมืองต่างๆ ในเอเชียได้
บริษัท โตชิบา คอร์ปอเรชั่น ได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกับบริษัท คาวาซากิ สึรุมิ ริงโกะ บัส จำกัด (หรือ ริงโกะ บัส) และบริษัท ไดรฟ์ อิเล็กโทร เทคโนโลยี จำกัด (หรือ ไดรฟ์ อิเล็กโทร เทคโนโลยี) เพื่อทำการศึกษาโครงการสาธิตนำร่อง เพื่อยืนยันประสิทธิภาพแบตเตอรี่ชนิดชาร์จเร็วพิเศษด้วยแหนบรับไฟหรือแพนโทกราฟ คาดว่าโครงการจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2568 ภายหลังปรับปรุงรถบัส และติดตั้งระบบชาร์จด้วยแหนบรับไฟในอู่จอดรถเสร็จสิ้น ทั้งนี้ รถบัสรุ่นดังกล่าวจะให้บริการวิ่งตามเส้นทางปกติบนถนนสาธารณะในเมืองคาวาซากิ ซึ่งอยู่ทางใต้ของกรุงโตเกียว
โครงการนี้นับเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่น ที่มีการนำรถออกทดลองบนท้องถนนสาธารณะ โดยโครงการนี้จะช่วยสาธิตว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเดินรถบัสไฟฟ้าที่ชาร์จด้วยระบบแหนบรับไฟในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ บริษัทริงโกะ บัส จะเป็นผู้ให้บริการเดินรถ ส่วนบริษัทไดรฟ์ อิเล็กโทร เทคโนโลยีจะเป็นผู้ผลิตระบบชาร์จด้วยแหนบรับไฟ และดัดแปลงรถบัสดีเซลให้เป็นรถไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ SCiB™ ชนิดชาร์จเร็วพิเศษของโตชิบา
นอกจากนี้ โครงการนี้ยังมุ่งทดสอบด้วยว่าแบตเตอรี่ SCiB™ ที่ใช้แล้วสามารถนำมาใช้ซ้ำได้หรือไม่ โดยจะนำแบตเตอรี่ที่ผ่านการใช้งานแล้วมาติดตั้งในระบบชาร์จด้วยแหนบรับไฟ และชาร์จไฟเพื่อลดการใช้พลังงานในช่วงที่มีความต้องการสูงสุด แล้วนำมาใช้จ่ายไฟให้กับแบตเตอรี่บนรถผ่านระบบแหนบรับไฟ
แม้ว่ารัฐบาลจีนและยุโรปจะสนับสนุนรถบัสไฟฟ้าเพราะถือเป็นการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่ยอดขายทั่วโลกในปี พ.ศ. 2566 กลับขายได้เพียง 50,000 คัน ซึ่งคิดเป็นแค่ร้อยละ 3 ของยอดขายรถบัสทั้งหมด ทั้งนี้ ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของรถบัส ได้แก่ ระยะเวลาการชาร์จที่ยาวนาน และจำนวนสถานีชาร์จที่มีจำกัด ส่วนอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ การต้องจัดหาพื้นที่ชาร์จรถบัสขนาดใหญ่ และติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จจำนวนมาก ความท้าทายเหล่านี้มีความสำคัญเป็นพิเศษในกรณีที่จะนำรถบัสไฟฟ้ามาใช้ในเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่นในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีพื้นที่จำกัด
โตชิบาจะร่วมมือกับ ริงโกะ บัส และ ไดรฟ์ อิเล็กโทร เทคโนโลยี เพื่อนำขีดความสามารถของแต่ละบริษัทออกมาใช้ประโยชน์สูงสุด เพื่อส่งเสริมผลักดันโครงการสาธิตนี้ให้เป็นโครงการริเริ่มที่ล้ำสมัย และเพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้บุกเบิกในการนำระบบนี้มาใช้ในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งขับเคลื่อนความเป็นกลางทางคาร์บอน และการเติบโตอย่างยั่งยืนของสังคมโดยรวม