ธ.ก.ส. ครบรอบปีที่ 59 เดินหน้าลดภาระหนี้สินเกษตรกรผ่านนโยบายรัฐบาล และการฟื้นฟูอาชีพ
ธ.ก.ส. ครบรอบปีที่ 59 เดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรลูกค้าผ่านมาตรการพักชำระหนี้ลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 2 ควบคู่การฟื้นฟูศักยภาพในการประกอบอาชีพและรายได้
พร้อมมุ่งสู่แกนกลางการเกษตรด้วยการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง สร้างงาน สร้างรายได้ การสนับสนุนเงินทุนทั้งในและนอกภาคการเกษตร ผ่านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษรองรับการเติบโตในทุกมิติ อาทิ สินเชื่อเงินด่วนคนดี สินเชื่อเงินด่วนกึ่งแสน สำหรับสมาชิกอสม. และอสส. พร้อมเตรียมเปิดตัวสินเชื่อเคหะเพื่อที่อยู่อาศัย BAAC Housing Loans เร็ว ๆ นี้
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า เนื่องในโอกาสครบรอบวันสถาปนาธนาคาร ปีที่ 59 ธ.ก.ส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรไทยกว่า 4.7 ล้านครัวเรือน ให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะปัญหาภาระหนี้สินครัวเรือนที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลในระยะที่ 1 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2567
โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้กับ ธ.ก.ส. ทุกสัญญารวมกันไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งมีผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการฯ จำนวน 1.86 ล้านราย จัดทำเอกสารเพื่อเข้ามาตรการสำเร็จ จำนวนกว่า 1.41 ล้านราย ต้นเงินคงเป็นหนี้ 209,392 ล้านบาท นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้มีการจัดอบรมและส่งเสริมฟื้นฟูการประกอบอาชีพ ภายใต้หลักการ 3ลด 3เพิ่ม 3สร้าง ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ พร้อมเตรียมตลาดรองรับในการจำหน่ายผลผลิตผ่านภาคีเครือข่ายของธนาคารให้กับลูกหนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรในการประกอบอาชีพ มีรายได้เพียงพอและสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด โดย ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2567 มีผู้ผ่านการอบรม จำนวน 315,254 ราย
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้สนับสนุนเงินทุนผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพ ภายใต้มาตรการพักชำระหนี้ให้กับผู้ผ่านการอบรมฯ วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ต่อราย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนและเสริมสภาพคล่องในระหว่างการพักหนี้ โดยมีผู้ใช้บริการสินเชื่อ จำนวน 15,137 ราย ยอดจ่ายสินเชื่อสะสมรวมกว่า 1,232 ล้านบาท โดยหลังเสร็จสิ้นมาตรการในช่วงระยะที่ 1 ธ.ก.ส. ได้ติดตามและประเมินผลการฟื้นฟูพัฒนาอาชีพ พบว่า ผู้เข้าร่วมมาตรการฯ สามารถสร้างผลผลิต สร้างรายได้เพิ่มหรือลดต้นทุนการผลิตได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 จำนวน 60,629 ราย
สำหรับมาตรการพักชำระหนี้ลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 2 เป็นการแก้ไขปัญหาหนี้ต่อเนื่องให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการฯ ระยะที่ 1 กว่า 1.41 ล้านราย โดยเปิดให้ลูกค้าแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการ ระยะที่ 2 ผ่านสาขา ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 – 31 มกราคม 2568 ซึ่งธนาคารจะตรวจสอบข้อมูล ประเมินศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ (Loan Review) โดยลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข จะได้รับการพักชำระหนี้ในระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 – 30 กันยายน 2568 และ ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2567 มีผู้ผ่านการสอบทานศักยภาพหนี้ (LR) เพื่อเข้ามาตรการต่อ จำนวน 49787 ราย
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ตั้งเป้าหมายในการอบรมและส่งเสริมการฟื้นฟูประกอบอาชีพ ให้กับลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการฯ เพิ่มอีก 300,000 รายทั่วประเทศ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถนำความรู้จากการอบรมมาเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบอาชีพ ด้วยการปรับวิธีคิด วิธีทำ พัฒนาอาชีพเดิมและเติมอาชีพใหม่ ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมจะสามารถขอการสนับสนุนสินเชื่อภายใต้โครงการสินเชื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพภายใต้มาตรการฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการฟื้นฟูศักยภาพ ค่าลงทุนปรับเปลี่ยนการผลิตด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จนสามารถชำระหนี้ได้หลังสิ้นสุดมาตรการ
โครงการพักชำระหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล เป็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย โดยรัฐบาลจะชำระดอกเบี้ยแทน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของลูกค้าในช่วงพักหนี้ ซึ่งธนาคารได้กระตุ้นให้เกษตรกรเห็นประโยชน์ของการชำระหนี้ในช่วงนี้ เนื่องจากเงินที่ชำระในช่วงพักชำระหนี้ จะนำไปตัดเงินต้น ทำให้ภาระหนี้ระยะยาวลดลง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าเอง
ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส. ยังจัดกิจกรรมชำระดีมีโชค โดยมอบโชคให้กับลูกค้าที่ชำระหนี้ก่อนหรือตรงตามกำหนดเวลา เป็นรางวัลมูลค่ากว่า 483 ล้านบาท ซึ่งนอกจากเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับลูกค้าที่ชำระหนี้แล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างวินัยในการชำระหนี้ ช่วยสร้างเครดิตที่ดีให้กับตนเอง และนำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืน
นายฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากภารกิจมุ่งสู่แกนกลางการเกษตร (Essence of Agriculture)
ในการยกระดับและเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการสนับสนุนเงินทุนที่เพียงพอ (Funding) การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี (Technology) การพัฒนาตลาดและองค์ความรู้ (Knowledge and Marketing) และการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ (Added Value) เพื่อพัฒนาการประกอบอาชีพของเกษตรกรไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์เกษตรมูลค่าสูงที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในตลาดที่มีกำลังซื้อสูง และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ธ.ก.ส. ยังสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำให้แก่บุคลากรของรัฐและเอกชนที่ทำหน้าที่ในการดูแลภาคชนบทและชุมชน ในการนำไปต่อยอดและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในทุกมิติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน และป้องกันการก่อหนี้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยไม่เป็นธรรม อาทิ สินเชื่อเงินด่วนคนดีสำหรับสมาชิกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ที่เป็นกลไกสำคัญในการดูแลสุขภาพเกษตรกร ประชาชนและสังคมส่วนรวม กรอบวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 20,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.67 ต่อเดือน หรือ ร้อยละ 8 ต่อปี
ซึ่งมีการจ่ายสินเชื่อไปแล้ว 8,477 ล้านบาท จำนวนผู้กู้ 423,848 ราย และมีการต่อยอดโครงการด้วยการจัดทำสินเชื่อเงินด่วนกึ่งแสน เพื่อสมาชิก อสม. และ อสส. ที่กู้โครงการสินเชื่อเงินด่วนคนดีที่มีการชำระเงินตรงงวดครบ 4 เดือน สามารถเพิ่มวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 50,000 บาท กรอบวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท และสามารถขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปจากเดิมไม่เกิน 48 งวด เป็นผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 125 งวด โดยจ่ายสินเชื่อไปแล้ว 2836 ล้านบาท จำนวนผู้กู้ 56,726 ราย และในโอกาสฉลองครบรอบวันสถาปนาปีที่ 59 ธ.ก.ส. เตรียมเปิดตัวสินเชื่อเคหะเพื่อที่อยู่อาศัย BAAC Housing Loans กรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท วงเงินให้กู้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อหลักประกัน ผ่อนชำระสูงสุด 40 ปี
เพื่อสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับเกษตรกรและบุคคลในครอบครัวที่มีรายได้ประจำเป็นรายเดือน บุคลากรภาครัฐหรือพนักงานองค์กรในสังกัดหน่วยงานที่ได้ทำข้อตกลงร่วมกันกับธนาคาร (MOU) ที่มีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาชุมชนในการนำไปซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ปรับปรุงหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย รวมถึงการไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากสถาบันการเงินอื่น